“มีใครเคยเป็นเอ็นไหล่อักเสบ หรือ ไหล่ติด มั้ยครับ”
เวลา ปวดไหล่ แล้วไปตรวจกับหมอ หลายคนมักจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค “เอ็นไหล่อักเสบ” กัน จริง ๆ แล้วโรคนี้ตรวจได้ไม่ยาก แค่มีจุดกดเจ็บและทำท่าตรวจพิเศษเฉพาะของแต่ละเอ็น ก็จะทำให้พอบอกได้แล้วว่าเป็นเอ็นกล้ามเนื้อใดอักเสบหรือขาด ยกเว้นบางรายที่อาการไม่ชัดเจนหรือทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว ยังไม่หาย หมออาจจะส่งตรวจ MRI ไหล่เพิ่มเติม
แต่หมอกำลังจะบอกว่า…เราอาจข้ามโรคที่ง่าย ๆ รักษาได้ “ไม่ยาก” ไปโรคหนึ่งครับ แล้วการตรวจร่างกายแทบจะเหมือนกับเอ็นไหล่อักเสบของเราด้วย ซึ่งก็คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อพังผืดของกล้ามเนื้อที่ชื่อว่า เดลตอยด์ (Deltoid) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ตรงหัวไหล่ของเรา และเป็นสาเหตุอาการปวดหัวไหล่ที่พบบ่อยสุดด้วยครับ
ปวดไหล่เรื้อรังจากกล้ามเนื้อพังผืดเดลตอยด์ (Deltoid)
กล้ามเนื้อเดลตอย์คือกล้ามเนื้อที่คลุมรอบหัวไหล่เลย ทำให้เราสามารถยกแขนไปด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังได้ครับ
ใครคือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้
- การทำงานที่ต้องกางแขนยกของหนัก หรือ อยู่ในท่ายกแขนนาน ๆ
- การหิ้วของหนัก
- การเล่นกีฬา เช่น เทนนิส กอล์ฟ สกี การยิงปืนยาวที่ท้ายด้ามปืนกระแทกเข้าที่ไหล่โดยตรง
- การถูกฉีดยา เข้ากล้ามเนื้อไหล่
“ช่วงที่ผ่านมา หมอเจอบ่อยพอสมควรเลย คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด มีคนไข้บางส่วนให้ประวัติว่า หลังฉีดวัคซีน แล้วยกแขนไม่ขึ้นครับ”
ลองมาเช็คกัน: ปวดไหล่ แบบไหนถึงจะสงสัยโรคนี้
อาการที่พบบ่อย คือ ปวดไหล่ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า ด้านข้างหรือด้านหลังของไหล่ แต่บางคนจะไม่สามารถบอกตำแหน่งได้ เพราะรู้สึกปวดลึก ๆ ไปถึงในข้อ ตัวกล้ามเนื้อมัดนี้ไม่ค่อยปวดร้าวไปที่อื่นเหมือนมัด Trapezius ที่เล่าไปครั้งที่แล้วนะครับ
โรคนี้ตรวจร่างกายด้วยตนเองง่ายมากครับ แค่ลองกดกล้ามเนื้อรอบไหล่ ตามจุดในรูป จะมีอาการกดเจ็บชัดเจน
หรือ ลองกางแขนออกด้านข้าง ร่วมกับทำมือดังนี้ แล้วดูว่าเจ็บหรือไม่ครับ
- เจ็บตอนเอานิ้วโป้งชี้ขึ้นฟ้า อาจจะเป็นปัญหาของกล้ามเนื้อ deltoid ส่วนหน้า
- เจ็บเวลาหันนิ้วโป้งชี้ลงพื้น อาจจะเป็นปัญหาที่กล้ามเนื้อ deltoid ส่วนหลัง
- เจ็บเวลากางแขน ตอนที่คว่ำมือธรรมดา ให้สงสัยกล้ามเนื้อ deltoid ส่วนกลางมีปัญหาครับ
ปวดไหล่ ลักษณะนี้ รักษาได้หรือไม่
โรคนี้สามารถรักษาโดยได้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดังที่กล่ามข้างต้น
- การใช้ยารับประทานลดปวด
- การฝังเข็มแบบตะวันตก หรือ ใช้เข็มสะกิดคลายปมกล้ามเนื้อ เป็นวิธีที่หมอชอบใช้รักษาผู้ป่วยเพราะเห็นผลไวครับ
- การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดลดปวด
- การยืดคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเดี๋ยวหมอจะมาสอนอีกทีในบทความหน้านะครับ
ต้องการติดต่อสอบถามหมอฐิติเพิ่มเติม ได้ที่นี่
เช็ควิธีการรักษาและอัตราค่าบริการได้ ได้ที่นี่
บทความโดย
นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพะเยา